วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พันธุ์ไม้ป่าที่มีลักษณะแปลกพิเศษ

พันธุ์ไม้กินแมลง (insectivorous plants)

พันธุ์ไม้กินแมลง (insectivorous plants) พันธุ์ไม้กลุ่มนี้ถึงแม้ว่าจะได้อาหารจากการสังเคราะห์แสงก็ตาม แต่ไม่เพียงพอเพราะสภาพแวดล้อมไม่อำนวย เช่น เกิดในที่ดินทรายมีน้ำขังหรือมีปุ๋ยน้อยดังนั้นจึงต้องหาอาหารมาเพิ่ม โดยการเปลี่ยนรากหรือใบให้มีลักษณะพิเศษสำหรับดักจับแมลงมาย่อยดูดกินเป็นอาหาร เท่าที่พบในประเทศไทยมีด้วยกัน ๓ สกุล คือ
๑. หญ้าน้ำค้าง (Drosera) มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดคือ หญ้าน้ำค้างหรือจอกบ่วาย หญ้าไฟตะกาดและหญ้าไฟเดือนห้า ซึ่งต่างเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก พบขึ้นตามทุ่งโล่งที่ดินเป็นทราย มีน้ำขัง ดอกสีขาวหรือชมพู ตามใบมีขนยาวๆ ที่ปลายพองเป็นตุ่มกลมๆ ขับน้ำเมือกเหนียวๆ ใสๆ ดูคล้ายหยาดน้ำค้าง ใช้ดักจับแมลงที่บินมาตอมหรือไต่ขึ้นมา
๒. หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes) เป็นไม้เถาเลื้อยอาศัยปลายใบรัดพันไปกับต้นไม้อื่นๆ และปลายใบของพันธุ์ไม้จำพวกนี้แปรสภาพยืดยาวออกเป็นก้านกลม แล้วพองออกเป็นรูปกระบอกมีลักษณะต่างๆ กัน กระบอกนี้มีฝาปิด เมื่อยังเจริญไม่เต็มที่ เมื่อเจริญเต็มที่จะเปิดออกเพื่อรับแมลงต่างๆ ให้ร่วงหล่นลงไปภายใน ที่ก้นกระเปาะมีน้ำย่อยอย่างอ่อนขังอยู่ เพื่อใช้ย่อยละลายวัตถุธาตุในซากแมลง และดูดน้ำไปใช้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพันธุ์ไม้ พืชพวกนี้มีด้วยกัน ๓ ชนิด คือ


พันธุ์ไม้กินแมลง (insectivorous plants)เขนงนายพราน พบขึ้นตามป่าละเมาะที่มีดินปนทรายและน้ำขัง
หม้อแกงค่าง พบขึ้นตามป่าพรุ
หม้อแกงลิง หรือ น้ำเต้าพระฤาษี พบขึ้นตามป่าทุ่งดินทรายในระดับสูง
๓. สาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia) เป็นพืชขนาดเล็ก มีอยู่ด้วยกันมากชนิดขึ้นตามที่แฉะชื้นน้ำขังหรือตามบึง ใบออกเป็นกระจุกที่โคนต้น ส่งช่อดอกขึ้นมาสูง ดอกสีขาวเหลือง ม่วงแดง หรือม่วงน้ำเงิน พันธุ์ไม้กลุ่มนี้มีกระเปาะเล็กๆ ตามรากมีช่องเปิดสำหรับตักไรน้ำกินเป็นอาหาร
กาฝาก (parasites)

กาฝาก (parasites) เป็นพืชที่อาศัยเกาะขึ้นกับพืชอื่น และแย่งอาหารจากพืชที่เกาะอยู่และ บางชนิดก็แย่งอาหารจากพวกกาฝากด้วยกันพืช พวกกาฝากจะมีรากชนิดหนึ่ง เรียกว่า รากเบียน (haustoria) ที่แทงทะลุเปลือกไม้เข้าไปถึงขั้นเยื่อสร้างความเจริญเติบโต (Cambium) ของพืชที่เกาะอาศัยอยู่ พืชกาฝากแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ
๑. พวกเบียนลำต้นเป็นพืชในวงศ์ลอแรนทาซิอี (Loranthaceae) ซึ่งมีหลายสกุล และมากมายหลายชนิด พบขึ้นทั่วไปตามต้นไม้ต่างๆ และมักเรียกชื่อตามต้นไม้ที่เกาะเบียนอยู่ เช่น กาฝาก มะม่วง กาฝากก่อตาหมู เป็นต้น
๒. พวกเบียนราก มีหลายวงศ์ เช่น

วงศ์ขนุนดิน (Balanophoraceae) อาศัยเกาะกินรากต้นไม้ป่าชนิดต่างๆ ตัวอย่างเช่น ขนุนดินลำต้นแยกแขนงสั้นๆ ชิดกันเป็นกระปุกใหญ่สีน้ำตาล ผิวขรุขระ ส่วน โหราเท้าสุนัข ซึ่งใช้เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งนั้น ลำต้นแยกแขนงค่อนข้างห่างกัน
วงศ์ดอกดิน (Orobanchaceae) อาศัยเกาะกินอาหารจากรากไผ่
วงศ์บัวผุดRafflesiaceae) ได้แก่ กระโถฤาษี ดอกตูม เป็นก้อนกลมๆ สีขาว เวลาบานจะเห็นภายในสีน้ำหมากประเหลือง กลิ่นไม่ชวนดม

พืชอาศัย (epiphytic plants)

พืชอาศัย (epiphytic plants) ได้แก่พืชชนิดต่างๆ ที่อาศัยพำนักอยู่ตามราก ลำต้น กิ่งและใบของต้นไม้ด้วยการใช้รากเกาะยึดอยู่ตามผิวของส่วนนั้นๆ โดยที่ไม่ได้ส่งรากเบียนแทงทะลุเข้าไปแย่งอาหาร ดังเช่น กาฝาก พืชที่เกาะขึ้นอยู่ตามก้อนหินและผิวหินทั่วๆ ไปในป่านั้นก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย พืชอาศัยนี้มีอยู่มากมายหลายชนิดและพอจะจัดแยกออกได้เป็นพวกๆ ๕ พวก คือ
๑. ฝอยลม (lichens) พืชพวกนี้มีลักษณะครึ่งสาหร่าย (algae) ครึ่งเห็ด (fungi) พบขึ้นบนผิวเปลือกไม้ตามลำต้น และกิ่งของต้นไม้หรือตามก้อนหิน มีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันไป บางชนิดเป็นแผ่นเรียบ ผนึกราบกับวัตถุที่ขึ้นอยู่เป็นกาบล่อนๆ เป็นฝอยห้อยยาว หรือเป็นก้อนกระจุกขึ้นชิดติดกันชนิดที่เรียกว่าฝอยลมนั้นอยู่ในสกุล Usnea ชาวชนบทนิยมใช้แช่น้ำให้หญิงขณะทำคลอดดื่ม ทำให้คลอดบุตรง่าย
๒. หญ้ามอสส์ (mosses) มีอยู่ทั่วไปในป่าดิบชื้น ทั้งในระดับต่ำและระดับสูง จะเห็นว่าพืชประเภทนี้ปกคลุมราก ลำต้น กิ่ง และใบของต้นไม้ หรือตามก้อนหินอยู่ทั่วๆ ไปหญ้ามอสส์มีประโยชน์ในด้านอนุรักษ์ในข้อที่ว่าช่วยสร้างความสมบูรณ์ของดินให้สูงขึ้น และช่วยรักษาระดับความชื้นในป่านั้นๆ ให้คงที่อยู่ตลอดไป ชนิดที่ขึ้นอยู่ตามใบนั้น เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุน จำพวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มตะไคร่น้ำ (hepatics)
๓. ผักกูด (ferns) จะขึ้นอยู่มากในป่าดิบชื้น และทำหน้าที่ทำนองเดียวกันกับหญ้ามอสส์ และตะไคร่น้ำ ผักกูดบางชนิดมีทรวดทรงและใบงดงามจึงมีผู้นำมาปลูกเป็นไม้ประดับกันหลายชนิดเช่น ข้าหลวงหลังลาย ชายผ้าสีดา และกูดหูควาก เป็นต้น ผักกูดบางชนิดชาวชนบทได้ใช้เป็นสมุนไพร เช่น ว่านงู หรือว่านนาคราช กล่าวกันว่าใช้แก้งูพิษได้ดี
๔. กล้วยไม้ (orchids) มักชอบขึ้นในป่าที่มีภูมิอากาศแห้งในเวลากลางวัน และความชื้นสูงในเวลากลางคืน และจะพบว่ากล้วยไม้ส่วนใหญ่มักขึ้นในป่าเต็ง รัง ที่มีความร้อนจัดในตอนกลางวันกล้วยไม้ที่พบขึ้นตามต้นไม้ และก้อนหินที่มีดอกสวยงามนั้นก็คือ
ฟ้ามุ่ย ดอกสีน้ำเงินขนาดใหญ่
สามปอยดง ดอกสีขาวอมเหลือง กลิ่น หอมและบานทน
ช้างกระ ดอกสีขาวมีประแดง กลิ่นหอมและบานทน
ช้างเผือก ดอกสีขาวสะอาด กลิ่นหอมและบานทน
ช้างแดง ดอกสีแดง กลิ่นหอมและบานทน
กุหลาบเหลือง ดอกสีเหลือง ลิ้นม่วงแดง
โคราช กลิ่นหอมและบานทน
เอื้องคำและเอื้องผึ้ง ดอกสีเหลือง
ผมผีพราย ดอกสีม่วงชมพู
เอื้องแซะ ดอกขาวลิ้นเหลือง กลิ่นหอม นิยมปลูกทางเหนือ เพราะพบขึ้นตามป่าเขาระดับสูง
เข็มเหลือง ดอกสีเหลืองส้ม
เข็มแสด ดอกสีเหลืองแสด
เข็มแดง ดอกสีม่วงแดง

๕. ไทร เป็นพันธุ์ไม้ในสกุลมะเดื่อ (Ficus)ผลสุกเป็นอาหารหลักของนกชนิดต่างๆ เมื่อนกไปถ่ายมูลไว้ตามคบไม้ เมล็ดไทรก็จะงอกขึ้นเป็นต้น และส่งรากลงมาตามลำต้นไม้จนถึงพื้นดินได้อาหารในดินเพิ่มขึ้นก็จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งเรือนยอดขึ้นไปเหนือต้นไม้ที่อาศัยอยู่ ในขณะเดียวกันก็ใช้รากโอบพันลำต้นไว้เพื่อพยุงลำต้นให้สามารถทรงตัวอยู่ได้อย่างมั่นคง ในที่สุดต้นไม้นั้นจะตายเพราะไม่ได้รับแสงแดดเพียงพอ ต้นไทรก็สามารถยืนต้นอยู่ได้ โดยอาศัยลำต้นตายนั้นเป็นแกน ไทรมีอยู่มากชนิด ที่พบมากคือ ไทรพัน ไทรทอง กร่างและไกร

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 
Powered by MBA